นโยบายการดำเนินงาน
การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บสส.
มีนโยบายมุ่งเน้นให้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เป็นอันดับแรก โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงร่วมปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติภายใต้แนวทางที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งนี้ บสส. อาศัยกระบวนการตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรและภาครัฐโดยรวมเท่านั้น สำหรับลูกหนี้ที่กระจายอยู่ในภูมิภาค บสส. ได้จัดให้มีสำนักงานสาขา 4 สำนักงาน ได้แก่ สาขาเชียงใหม่, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก เพื่อให้บริการแก่ลูกหนี้โดยทั่วถึง
การบริหารทรัพย์สินรอการขาย
ในการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย บสส. มีนโยบายที่จะให้มีการนำทรัพย์สินกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สิน ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน อันจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ บสส. จึงทยอยนำทรัพย์สินรอการขายออกจำหน่ายเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้เป็นศูนย์รวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีศักยภาพ ในทำเลต่างๆ พร้อมให้ผู้สนใจเลือกลงทุนเพื่อสร้างโอกาส และความมั่งคั่งทางธุรกิจ โดยผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดผ่านทางเว็บไซต์ ของ บสส. (www.sam.or.th) รวมทั้งอีกหลากหลายช่องทางบนออนไลน์ ทั้ง Line โดยแอด ID Line @Samline และ Facebook Fanpage : เพจ ทรัพย์มือสองต้อง SAM และ SAM NPA Channel บน YouTube ฯลฯ เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารดีๆ จาก SAM
โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM
โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือเรียกว่า “คลินิกแก้หนี้” เริ่มต้นเมื่อปี 2560 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ประกอบด้วยหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ จึงมีการจัดตั้ง “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” หรือเรียกว่า “คลินิกแก้หนี้” โดยแต่งตั้ง บสส. เป็นหน่วยงานกลาง ประสานงานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติการแก้ไขหนี้ร่วมกันในที่เดียว แบบ One-Stop-Service ต่อมาได้มีผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธ.ออมสิน) เข้าเป็นสมาชิกโครงการฯ เพิ่ม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน (สง.) ในโครงการฯ รวมกว่า 30 แห่ง นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีบทบาทด้านการป้องกันการเป็นหนี้เสียโดยเผยแพร่ความรู้ทางการเงินให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน (โครงการ B2B) รวมถึงการทำ E-Learning ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการหนี้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน
การสร้างโอกาสทางธุรกิจ บสส.
เมื่อปี 2556 บสส. ได้เข้าเป็นสมาชิกใน International Public AMC Forum หรือ IPAF ซึ่งก่อตั้งขึ้น ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกอบรมระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐในประเทศต่างๆ เพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ บสส. ยังเข้าร่วมกิจกรรมและการอบรมสัมมนาของ IPAF อย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบัน IPAF ประกอบด้วยสมาชิกจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย
ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม
การดำเนินธุรกิจของ บสส. มุ่งหมายให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและช่วยให้สถาบันการเงินมีความ เข้มแข็ง ขณะเดียวกัน บสส. ก็ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังเป็นองค์กรที่สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการช่วยเหลือดูแลสังคมไปพร้อมๆ กัน ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการออม ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อให้โอกาสและส่งเสริมความรู้แก่ผู้มีปัญหาหนี้สิน นักศึกษาและผู้ที่เริ่มเข้าทำงานในสังคมไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี แก้ไขปัญหาหนี้สิน สร้างวินัยทางการเงิน และห่างไกลจากปัญหาทางการเงินผ่านโครงการต่างๆ